คลังคาดปิดหีบจัดเก็บรายได้รัฐบาลปีงบ 65 เกินเป้า 7 หมื่นล้าน

การเงินธุรกิจ

คลังคาดปิดหีบจัดเก็บรายได้รัฐบาลปีงบ 65 เกินเป้าหมายถึง 7 หมื่นล้านบาท ชี้การบริโภคและท่องเที่ยวหนุนภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น คาดปีงบ 66 จัดเก็บตามเป้า เร่งหน่วยงานภาครัฐเบิกจ่ายงบลงทุน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังคาดการณ์ปิดหีบการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2565 ว่า จะเกินกว่าเป้าหมายประมาณ  7 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ หากนับรวมรายได้ที่หายไปจากการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลจำนวน 3 ครั้งอีกกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท จะทำให้การจัดเก็บรายได้เกินกว่าเป้าหมายราว 1.3 แสนล้านบาท

เขากล่าวว่า รายได้ที่จัดเก็บได้เกินกว่าเป้าหมายเป็นผลจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ดีขึ้นทั้งจากการบริโภคและการท่องเที่ยว ทำให้รายได้ของกรมสรรพากรจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยช่วง 10 เดือนปีงบฯ 65 กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้อยู่ที่  1.67 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อนถึง 2.1 แสนล้านบาท ส่วนกรมสรรพสามิตก็จัดเก็บได้ต่ำเป้าเป็นผลจากการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลดังกล่าว ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดจีดีพีปีนี้ขยายตัวได้ในระดับ 3.5%

ข่าวการเงิน ไทยรัฐ

สำหรับรายได้ที่คาดว่าจะเกินเป้าหมายในปีงบ 65 ที่ 7 หมื่นล้านบาทนั้น ถือเป็นการเกินเป้าหมายครั้งแรกหลังจากเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในปีงบฯ 63 รัฐจัดเก็บรายได้ต่ำเป้า 3.36 แสนล้าน หรือ ต่ำเป้า 12.3% และปีงบฯ 64 จัดเก็บรายได้ต่ำเป้า 3.07 แสนล้าน หรือต่ำเป้า 11.5% และยังเป็นการจัดเก็บรายได้เกินเป้าที่สูงกว่าช่วงเกิดโควิดในปีงบฯ 62 ที่จัดเก็บเกินเป้าที่ 6.94 พันล้านบาท หรือสูงกว่าเป้าหมายเพียง 3%

“รายได้ปีงบฯ 65 แม้เกินเป้าลดลงเหลือประมาณ 7 หมื่นล้านบาท เนื่องจาก มาตรการลดภาษีสรรสามิตน้ำมันดีเซล 3 ครั้งที่ทำให้รายได้หายไปประมาณ 6.8 หมื่นล้าน แต่ก็ถือว่ารายได้กลับมา เป็นบวกอีกครั้งในรอบ 2 ปี ในช่วงที่เกิดโควิด-19 และยังสูงกว่าช่วงที่เกิดโควิด ซึ่งขณะนั้นรายได้จะสูงกว่าเป้าหมายไม่มาก”

สำหรับการต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. ถึงวันที่ 20 พ.ย.2565 นั้น จะทำให้สูญรายได้ไปอีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เขากล่าวว่า ในส่วนของการดำเนินมาตรการรอบนี้ จะถูกนำไปรวมอยู่ในงบประมาณปี 66

ส่วนเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของปีงบ 66 อยู่ที่ 2.49 ล้านล้านบาทนั้น กระทรวงการคลังคาดว่าจะจัดเก็บได้ตามเป้าหมาย ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเร่งรัฐให้ส่วนราชการให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วง 3 เดือนแรก โดยเฉพาะงบลงทุนเพื่อให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 1/66 มากที่สุด จากในอดีตที่การเบิกจ่ายมักจะกระจุกตัวอยู่ในช่วงครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ